top of page
  • Writer's pictureBomOlarn

เกร็ดความคิด ประสบการณ์ชีวิต พี่โต้ง กำพล ตันสัจจา ตำนานแห่ง สวนนงนุช


พี่โต้ง กำพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุช พัทยา กับการบรรยายให้หลักสูตรวิทยาการเกษตรระดับสูง (วกส.) รุ่นที่2

เชื่อว่าแทบทุกคนที่ได้อ่านบทความนี้คงต้องเคยได้ยินชื่อ “สวนนงนุช” สวนที่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และได้ชื่อว่า เป็น 1 ใน 10 สวนที่สวยที่สุดในโลก แต่จะมีสักกี่คน ที่มีโอกาสได้พบ พูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ กับ พี่โต้ง กำพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุช พัทยา ชายผู้ซึ่งบอกว่า ตนเองไม่เคยคิด ถึงเรื่องการมาทำการเกษตร การปลูกต้นไม้ใดๆ แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็น “ต้นแบบของการทำการเกษตร ที่ผสมผสานความคิดสร้างสรรค์ และ Soft Power ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง และกลายเป็น Destination ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกให้ความสำคัญ และคนที่รักต้นไม้ สวนสวยๆ ต้องมาเยี่ยมชมให้ได้สักครั้ง”

พี่โต้ง กำพล ตันสัจจา แห่งสวนนงนุช, พี่กร ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์, บอม โอฬาร วีระนนท์ แห่งยักษ์เขียว และเพชร แก้วชนะ

“สวนนงนุช สืบทอดเจตนารมณ์ของคุณแม่ สู่การพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งกว่า 40 ปี”
พี่โต้ง กำพล ตันสัจจา, พี่แดง อนัน สุวรรณรัตน์ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรฯ และผอ.หลักสูตร วกส. และพี่กร ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร

สวนนงนุชพัทยาเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2523 (จำง่ายเพราะปีเดียวกับปีเกิดผม ) บนที่ดิน 1,500 ไร่ ที่คุณพิสิฐและคุณนงนุช ตันสัจจา (คุณพ่อและคุณแม่ของพี่โต้ง) ซื้อไว้ตั้งแต่ปี 2497 จากเดิมเป็นสวนผลไม้ แต่ด้วยคุณแม่นงนุช มีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ได้เห็นสวนสวยงามในประเทศต่างๆ ทั้งที่สิงคโปร์ กับโบกอร์ อินโดนีเซีย และที่อื่นๆ ทั้งด้วยเป็นคนชอบดอกไม้อยู่แล้ว จึงเกิดความประทับใจ และแรงบันดาลใจ อยากสร้างสวนดีๆ ให้คนไทยได้มีโอกาสเที่ยวชม และนั่นคือที่มาของสวนนงนุช ซึ่งตั้งชื่อตามคุณแม่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อน ปลูกไม้ดอกไม้ประดับนานาชนิด จัดแต่งเป็นสวนสวย มีการแสดงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย การแสดงช้างแสนรู้ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับ อาทิ ที่พัก สระว่ายน้ำ ห้องอาหาร และจัดเลี้ยงสัมมนาสำหรับบริการนักท่องเที่ยวแบบครบวงจร และได้มอบให้พี่โต้ง กำพล ตันสัจจา ซึ่งเป็นลูกคนที่สอง บริหารจัดการตั้งแต่ปี 2526 เป็นต้นมา จนปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก ที่รวบรวมพันธุ์ไม้กว่า 18,000 ชนิด เป็นศูนย์กลางของสวนพฤกษศาสตร์ระดับโลก บนพื้นที่กว่า 1,700 พร้อมรางวัลเกียรติยศมากมายจากทั่วโลก แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือ “ชายผู้อยู่เบื้องหลัง สวนนงนุชแห่งนี้” เค้ามีแนวคิดอย่างไร ทำอะไร และทำไม? จนสร้างให้สวนนงนุชยิ่งใหญ่อย่างทุกวันนี้ได้


บอม โอฬาร วีระนนท์ และพี่โต้ง กำพล ตันสัจจา กับประสบการณ์อันมีค่า ที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนมากมาย

“พี่โต้ง กำพล ตันสัจจา จากธุรกิจโรงหนัง บันเทิง สู่สวนสวยระดับโลก”
Vision form Leaders โดยพี่โต้ง กำพล ตันสัจจา แบ่งปันกับหลักสูตรวิทยาการเกษตรระดับสูง รุ่นที่ 2

ธุรกิจเดิมของตระกูลตันสัจจา คือธุรกิจโรงภาพยนตร์ ตั้งแต่ยุคศาลาเฉลิมไทย รวมถึงเป็นผู้ริเริ่มโรงหนังย่านสยามสแควร์ และโรงหนังในรูปแบบ Multiplex เริ่มจาก “โรงหนังสยาม” ในปี พ.ศ.2509 ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์ 800 ที่นั่งแห่งแรกที่มีบันไดเลื่อนอยู่หน้าโรง ตามด้วยโรงหนังลิโด และสกาลา (ขนาด 1,00 ที่นั่ง) ในปี 2511 และ 2512 ตามลำดับ จะเห็นได้ว่าด้วยพื้นเพของครอบครัว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำสวนพฤกษศาสตร์ใดๆ เพียงแต่สิ่งที่คุณโต้งมีอย่างเด่นชัดคือ...


“ไม่ได้ทำในสิ่งที่รัก แต่รักในสิ่งที่ทำ และจะทำมันใด้ดีขึ้นเสมอ”
ทุกครั้งที่มีโอกาส เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากตัวจริงในเรื่องใดๆ บอม โอฬาร จะสนใจ และดูดซับมุมมองต่างๆ มาประยุกต์ใช้เสมอ

พี่โต้งเริ่มต้นการเรียนระดับประถม ที่ รร.อัสสัมชัญ บางรัก จากนั้นไปต่อมัธยมที่ St.Stephen’s College, Hongkong Fayeteville High School, Arkansas, U.S.A. พี่โต้งแบ่งปันว่า จริงๆ ผมอยากเรียนสถาปัตย์ แต่สุดท้าย ตัดสินใจเลือกเรียน ป.ตรี วิศวกรรมไฟฟ้า (Bachelor of Science Electrical Engineering from University of Arkansas, U.S.A.) แม้ไม่ได้จบมาตรงสาย แต่เมื่อครอบครัวทำธุรกิจโรงหนัง และภาพยนตร์ เมื่อคุณพ่อมอบหมายให้ช่วยมาดูแลโรงหนัง ก็ต้องเปลี่ยนมุมมองมารักมันให้ได้ ด้วยเชื่อมั่นว่างานจะออกมาดีได้ เราต้องทำด้วยใจรัก และเราก็ทำจนรักในธุรกิจหนังได้ และทำมันออกมาได้ดี


“ต้นไม้ก็เช่นกัน … เราเริ่มต้นด้วยความไม่เห็นด้วย ไม่ชอบ ไม่เชื่อ แต่เมื่อต้องทำ เราก็ต้องรักมันให้ได้”
เริ่มจากรูปปั้นสัตว์ นานาชนิด ขนาดเท่าตัวจริง ก่อนมาลงตัว ที่ไดโนเสาร์

พี่โต้ง ได้รับมอบหมายจากคุณแม่ ให้มาช่วยบริหารสวนนงนุชหลังจากเปิดตัวมาได้ 3 ปี ทั้งๆ ที่เป็นคนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำสวนนงนุชแต่แรก เพราะมองว่ามันไม่ใช่แค่การลงทุนก่อสร้างแล้วจบ แต่การดูแลในระยะยาว อาจสูงกว่านั้นมากๆ เช่นลงทุนสร้างอาจจะหลัก 100 ล้าน แต่ค่าดูแลรักษาระยะยาว อาจเป็นหมื่นล้านก็ได้ ทั้งเป็นธุรกิจที่เราไม่ถนัด ไม่เชี่ยวชาญ อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รับมอบหมายจากคุณแม่ และครอบครัว เราก็ทุ่มเททุกอย่างอย่างจริงจัง ทำจนรักมันให้ได้ ยิ่งต้นไม้นี่ ถ้าเราไม่รักมันไม่ได้เลย เพราะมันเป็นสิ่งมีชีวิต ที่ต้องใส่ใจ ทั้งดิน ทั้งน้ำ ทั้งแดด ทั้งวิธีการดูแล ดูแลไม่ดีก็ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงพัฒนาตลอด


“สวนนงนุช กับหลักคิดในการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง”

เมื่อผมได้รับมอบหมายในการบริหารจัดการสวนนงนุช ตามเจตนารมณ์ของคุณแม่ สิ่งสำคัญที่ผมต้องทำให้ได้ และทำให้ดีคือ “การหาเงิน” เพราะเราจะไม่สามารถอยู่ได้เลย ดังนั้นเราต้องทำทุกวิธีเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาให้ได้

“ นักท่องเที่ยว สนใจอยู่ 3 อย่าง เราจะเลือกทำอะไร? ”

จากประสบการณ์ของผม ผู้คนสนใจอยู่ 3 อย่าง คือ ธรรมชาติ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และ Man Made (สิ่งท่องเที่ยวที่มนุษย์เป็นคนสร้าง) เช่น เวียดนาม มีสะพาน Golden Bridge หรือสะพานบนมือยักษ์ และแทบทุกประเทศ ก็จะมีเรื่องนี้ แต่ประเทศเราไม่ค่อยให้ความสำคัญในเรื่องนี้ สวนนงนุชเราให้ความสำคัญและกำลังพัฒนา Man Made อย่างต่อเนื่อง ให้คนที่เข้ามาเที่ยวต้องไปบอกต่อ อยากกลับมาอีก และมีสิ่งใหม่ๆ ตลอด


“ปั้นสัตว์มากมายไม่ได้ผล สุดท้ายมาลงตัวที่ ไดโนเสาร์”
ไดโนเสาร์ รับร้อย นับพันชนิด ที่อยู่ที่สวนนงนุช จุดดึงดูดสำคัญที่ Focus ที่เด็ก แต่กลับมาทั้งครอบครัว

ผมสังเกตว่าคนมักจะชื่นชอบในสิ่งที่เค้ามีโอกาสได้พบ สัมผัส และมีความทรงจำในวัยเด็ก ผมอยากให้เด็กได้มีโอกาสสัมผัสต้นไม้ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เพื่อให้เข้ารักและผูกพันในสิ่งนี้ และเมื่อเค้าโตขึ้น เค้าก็จะพาครอบครัว พาลูกหลานของเค้า มาเที่ยวดูสวน ดูต้นไม้ อาจไม่ใช่ที่ของผมก็ได้ แต่มันจะทำให้คนมีใจรักษ์ในต้นไม้ ธรรมชาติ และโลกใบนี้มากขึ้น

ผมเลยตั้งใจทำสวนให้เด็กเข้า แรกๆ เราก็ลองปั้นสัตว์นานาชนิด หลายร้อยตัว แต่ไม่ได้รับความสนใจเท่าไรนัก แต่เราก็พยายามทำต่อไป จนสุดท้ายก็มาลงตัวที่ “ไดโนเสาร์” พอเริ่มปั้น เริ่มได้รับความสนใจจากเด็กๆ เด็กก็มาเพราะอยากถ่ายรูป จากเรามี“ไดโนเสาร์” 10 กว่าตัว จนปัจจุบัน เราน่าจะมีกว่า 1,000 ตัวแล้ว


“มุ่งที่เด็ก แต่สุดท้าย ได้ทั้งครอบครัว”

พอเรามีรูปปั้นไดโนเสาร์เพิ่มขึ้น เด็กก็อยากมาถ่ายรูปมากขึ้น พอถ่ายรูปแล้วเค้าก็เอาไปแชร์ ไปแบ่งปัน ไปโชว์เพื่อนๆ เพื่อนเด็กก็อยากมา บอกให้พ่อมาพามา เราก็เลยได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เลยเกิดความคิดขึ้นมา เลยทำให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งครอบครัวไปเลย


“อีกนิดนึง” คือ เคล็ดลับความสำเร็จ
การตั้งคำถามที่ดี ย่อมนำไปสู่คำตอบที่ดี และการแลกเปลี่ยนอย่างมีคุณค่าเสมอ และนี่คืออีกหัวใจสำคัญ ของ วกส.

สำหรับผมคำว่า “อีกนิดนึง” คือ เติมอะไรเข้าไปอีกนิด พยายามอีกนิด เพื่อความพอใจของลูกค้า จะก้าวหน้ากว่าคนอื่นมาก พนักงานผม คนของผม เราก็สอนให้คิด รายงานทุกวัน พอรายงานทุกวัน มันก็ไม่มีอะไรจะรายงาน ก็ต้องพยายามคิด ว่าเราต้องทำอะไรเพิ่ม จึงจะมารายงานได้ ทั้งให้รู้จักหัดสังเกตุ หัดวิเคราะห์ สนทนากับลูกค้า ผมพูดคุยกับคนขับรถราง ที่พาลูกค้าเที่ยวชมสวนนงนุชอยู่เสมอ เพื่อให้รู้ว่าลูกค้าคิดอะไร อยากได้อะไร แล้วเราพยายามปรับเปลี่ยน พัฒนาอยู่เสมอ เพื่อให้เค้ามีความประทับใจ อยากบอกต่อ และกลับมาใหม่ได้ อย่างเช่นเส้นทางการเดินรถ เราก็เพิ่มการออกแบบให้รถชมวิว วิ่งเข้า Nursery ต้นไม้ ผ่านบรรยากาศการเพาะเลี้ยง การปลูกต้นไม้ ก็กระตุ้นให้คนอยากปลูก อยากซื้อ ไม่ต้องซื้อที่ผมก็ได้ ซื้อข้างนอกได้ แต่มันก็เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้โลกใบนี้

“นักริเริ่ม และเพิ่มเติมอย่างไม่หยุด จนเป็นจุดดึงดูดคนมากมาย”
หัวโขนมากมาย ครบถ้วนทุกประเภท มีอยู่ที่นี่ สวนนงนุช

ผมเป็นนักสะสม และนักริเริ่มหลายอย่างนะ อย่างตอนเริ่มต้น เราสะสมรถ เพราะเราชอบรถยนต์ และเราสะสมในสิ่งที่คนไม่นิยมมากนัก ราคาก็เลยไม่แพง ทำให้เรามีพิพิธภัณฑ์รถยนต์ตั้งอยู่ที่สวนนงนุช ต่อมาเราก็สะสมต้นไม้ จนปัจจุบัน มีพันธุ์ไม้ หลายประเภทที่สวนนงนุช มีมากสุดในโลก และได้รับการยอมรับไปทั่วโลก เช่นปาล์ม ปรง ฮาลิโคเนีย คอยย่า และเฟื่องฟ้า เป็นต้น เมื่อเรามีเยอะ คนก็เริ่มอยากมาศึกษา มาดูงาน และอยากมาร่วมทำงานกับเรา สวนนงนุชเลยกลายเป็น แหล่งที่สามารถรวบรวมผู้มีความรู้ มาช่วยกันทำ

สวนกระถาง ณ สวนนงนุช โดดเด่น มีเอกลักษณ์ เพราะปั้นเอง และมีความสร้างสรรค์ลงไปเสมอ

เราเริ่มทำสวนหิน วาดรูปด้วยหิน เริ่มตั้งแต่แปะไม่เป็น ไม่สวยเลย ไม่ไล่แปะหินมาจนทุกวันนี้ก็ยังไม่เสร็จ แต่กลายเป็นอีกเสน่ห์ที่ดึงดูดผู้คนมากมาย เราปั้นหัวโขนด้วยตัวของเราเอง จนปัจจุบันมีครบทุกแบบจริงๆ ต่อไปเราตั้งใจสะสมหุ่นกระบอก สวนพระ พัฒนาสู่พิพิธภัณฑ์ เราสร้างพิพิธภัณฑ์กระถาง หนึ่งเดียวในโลก อันนี้เป็นตัวอย่างการพัฒนาไม่หยุด


“เดี๋ยว กับ เดี๋ยวนี้”
บรรยากาศการแลกเปลี่ยนความเห็น และซักถามในมิติต่างๆ ของหลักสูตร วกส.รุ่นที่2

คล้ายกัน แต่ต่างกันมากนะ เวลาเราสอนงานลูกน้อง เราจะบอกเลยว่า “เดี๋ยวนี้” เช่น ผมเห็นว่างานกระถางจะต้องย้าย ทีมบอกว่าได้เลยครับ เดี๋ยวมาย้ายให้ ผมบอกไม่ใช่ มาชวนทำกันเลย เดี๋ยวนี้ เอาให้เสร็จไป พอฝึกแบบนี้จนเป็นนิสัย มันก็สร้างการเปลี่ยนแปลง อย่างฉับไวให้กับเรื่องต่างๆ ได้เสมอ


“3 เคล็ดลับในการนำเสนอ ย่นย่อ แม่นยำ รวดเร็ว”
พี่เพ็ญ เบื้องหลังคนสำคัญของ สวนนงนุช

ผมสอนงานลูกน้องว่า เวลานำเสนองานจำคำ 3 คำ ให้ขึ้นใจ คือ ย่นย่อ แม่นยำ และ รวดเร็ว ทำอะไรให้ Get to the point! เวลาไปนำเสนองานต้องคิดให้จบ เราต้องการอะไร ลูกค้าต้องการอะไร และเปิดโอกาสให้ลูกค้ามีทางเลือก และบอกข้อดี ข้อเสียของแต่ละทางได้อย่างชัดเจน


สั้นกว่านั้น คือ 2 คำ คือ “บอก กับ ถาม”

หาก 3 คำยังยาวไป ผมบอกลูกน้อง ถ้าจำอะไรไม่ได้ เอาง่ายๆ 2 คำ คือ “บอก กับ ถาม” ไม่บอกผมก็ไม่รู้ ไม่ถาม ก็คิดเองเออเอง แล้วทำผิด


“สิ่งที่คุ้มที่สุด คือสิ่งที่ทำถูกต้อง แต่อาจจะแพงที่สุด”
บอม โอฬาร วีระนนท์ กับบทบาท ที่ปรึกษา และผู้บริหารจัดการหลักสูตร วกส. ทั้งรุ่น 1 และ 2

หลักในการทำงานของผมคือ “ทำสิ่งที่ถูกต้อง” หลายครั้งอะไรเริ่มต้นมาผิด หรือเงื่อนไขในบางอย่างเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ มันอาจต้อง รื้อทำใหม่ มีต้นทุนสูง ราคาแพง และอาจจะแพงที่สุด แต่หากมันถูกต้อง และคุ้มค่า เราก็ควรทำ


“เมืองท่องเที่ยว ต้องมีทั้งกลางวัน และกลางคืน”
พี่กร อธิบดีกรมวิชาการเกษตร, พี่แดง อนันต์ สุวรรณรัตน์ และพี่ชวลิต ชูขจร อดีตปลัดการทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งสองท่าน

ในฐานะผู้บริหารภาครัฐ หากใครมีโอกาสเป็นผู้กำหนดนโยบาย เราต้องเข้าใจ การสร้างเมืองท่องเที่ยว ต้องเป็นเมืองที่เที่ยวได้ทั้งกลางวัน และกลางคืน จึงจะเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมได้ ลองคิดไปถึงใจของลูกค้า ใจของนักท่องเที่ยว เค้ามาเที่ยว 3 วัน เค้าอยากใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุด กลางวันเที่ยวอะไร กลางคืนเที่ยวอะไร พัทยามันมีครบ เลยกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกได้ หลายๆ อย่างภาครัฐพัฒนาได้ โดยใช้ต้นทุนต่ำ เพียงแต่ต้องมีความสร้างสรรค์ และคิดเป็น เช่นลองเปลี่ยนชื่อสถานที่ต่างๆ ที่มี Locationใกล้ๆ กับพัทยา ให้ต่อท้ายเป็นพัทยาสิ เช่น สนามบินสัตหีบ-พัทยา, สนามบินอู่ตะเพา-พัทยา แค่นี้เมืองก็ขยาย และกลายเป็นว่าพัทยามีสนามบินด้วยไปเลย หลายสิ่งมันอยู่ที่กระบวนการคิด การมองโลก และความเข้าใจในสิ่งที่ทำจริงๆ


“Pocket Park … สวนขนาดเล็กในพื้นที่ใหญ่”
ทุกจุดในสวนนงนุช สวยคุ้มค่า และถูกตั้งใจจัดวางมา ให้สวยงามอย่างลงตัวจริงๆ

ปัจจุบันสวนนงนุชมีพื้นที่กว่า 1,700 ไร่ ประกอบด้วยสวนมากมายนานาชนิด แต่เราเลือกที่จะ Design เป็น Pocket Park คือ เป็นสวนขนาด Compact เดินจบดูครบในแต่ละประเภท และขยายประเภทต่างๆ ไปเรื่อยๆ เรามีสวนหิน สวนปรง สวนลอยฟ้า สวนผลไม้ สวนไม้นานาชนิด ฯลฯ หลากหลายความสนใจให้คนเรียนรู้ได้


“สวนนงนุช คือ พืชสวนโลก”
การหารือวงเล็กๆ ระหว่าง พี่โต้ง พี่กร พี่เพ็ญ และบอม โอฬาร ก่อนเริ่มบรรยายให้ วกส.2

สำหรับผม คำนี้เป็นคำที่ Impact กับตัวผม ที่ได้มีโอกาสสนทนากับพี่โต้งมากๆ พี่โต้งเล่าให้ฟังว่า หลังจากมีโอกาสจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ราชพฤกษ์ 2549 (เนื่องในวโรกาสทรงสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา) ที่เชียงใหม่ (International Horticulture Exposition for His Majesty the King; Royal Flora Ratchapruek 2006)


งานนั้นจัดบนพื้นที่ 470 ไร่ มีความหลากหลายของพืชพรรณไม้ต่างๆ กว่า 2,200 ชนิด จำนวนกว่า 2 ล้าน 5 แสนต้น ซึ่งนับว่าเป็นมหกรรมพืชสวนโลกเขตร้อนชื้นที่สมบูรณ์ที่สุดของโลก ก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่คิดเป็นมูลค่าประมาณ 23,000 ล้านบาท โดยที่ร้อยละ 65 เป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวคนไทย และร้อยละ 35 เป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ (Wikipedia)

เมื่อพี่โต้ง กัมพล ตันสัจจา แบ่งปันประสบการณ์อย่างจริงจัง ก็ยากที่ใครจะละสายตา จาก Session ทรงคุณค่านี้ได้

ทั้งได้มีโอกาสไปทั้งดูงานพืชสวนโลก งานจัดดอกไม้ พันธุ์ไม้ต่างๆ ทั่วโลก จนเราเกิดความคิดว่า “ทำไมเราไม่สร้างสวนนงนุชให้เป็นพืชสวนโลก” และเรานี่ละคือ “พืชสวนโลก” โดยเป็น “พืชสวนโลก” ที่ไม่มีวันปิด เปิดตลอดทุกๆ วัน ซึ่งสำหรับผม ก็ไม่ใช่คำกล่าวอ้างที่เกินความจริงแต่อย่างใด หนำซ้ำเรื่องเช่นนี้ ที่ควรเกิดจาการสนับสนุน หรือเป็นภารกิจของภาครัฐ แต่สวนนงนุช เกิดจากฝีมือของเอกชนที่ตั้งใจ ลงทุนด้วยตนเอง จนเติบโตอย่างยิ่งใหญ่ ต้องปรบมือให้จากใจจริงๆ


“ตัวอย่างของธุรกิจเกษตรที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และเติบโตสู่ระดับโลก”
ลูกมะพร้าวทะเล / มะพร้าวแฝด (LODOICEA MALDIVICA) / มะพร้าวก้นสาว ปลูก 6 ปีจึงมีผลสุก มูลค่าสูงถึงลูกละ 1 แสนบาท

ปัจจุบัน “สวนนุงนุช” คือตัวอย่างที่เห็นชัด และจับต้องได้ของการทำธุรกิจเกษตร ด้วยความคิดสร้างสรรค์ และ Soft Power ที่ประสบความสำเร็จ จนกลายเป็น 1 ใน 10 สวน ที่สวยที่สุดในโลก ดึงดูดทั้งผู้คน และเม็ดเงินมากทาย จากทั้งในประเทศ และทั่วโลก เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ ชั้นนำของโลก ยิ่งกว่าภาครัฐด้วยซ้ำ ทั้งเรื่องพันธ์ไม้หายาก แหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตร การทำ Nursery พันธุ์ไม้ กระถาง การปรับปรุงดิน และยังเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนพืชสวนโลก การที่ได้ร่วมนำคณะนักศึกษาหลักสูตรวิทยาการเกษตรระดับสูง (วกส.) รุ่นที่ 2 หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงสุดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาร่วมเยี่ยมชมสวนนงนุชในครั้งนี้ สำหรับผมได้ทั้งความรู้ แนวคิดดีในการบริหารมากมาย และได้แรงบันดาลใจ ในการขับเคลื่อน GDP ภาคการเกษตรของไทย ให้เติบโตได้อย่างยิ่งใหญ่ในอนาคต เชื่อมั่นว่า

พี่กร ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์, พี่เก่ง ไกรวิทย์ และ บอม โอฬาร วีระนนท์ ตั้งใจเต็มที่เพื่อพัฒนาภาคการเกษตรไทย

“ยักษ์เขียว” (Yak Green) จะเป็นอีกตัวอย่าง ที่เป็นกลไก การขับเคลื่อนสำคัญ เผื่อผลักดันนักธุรกิจเกษตร (Agripreneur) ของไทย ให้ขยายตัวทั้งจำนวน และคุณภาพ จนเป็นแถวหน้าของโลกใบนี้ได้อย่างแข็งแรงในอนาคตในรุ่นของเรา
บอม โอฬาร วีระนนท์ CEO & Co-founder, DURIAN และ Yak Green (ยักษ์เขียว) กับความตั้งใจในการสร้าง Agripreneur ในไทย

บันทึกไว้ระหว่างการเดินทาง และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจ ด้วยความปรารถนาดี บอม โอฬาร วีระนนท์ - CEO and Co-founder, DURIAN - CEO and Co-founder, Yak Green (ยักษ์เขียว)



Comments


bottom of page